4 ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อราคากุ้งไทยในครึ่งปีแรกของ 2566

Shrimp market share in thailand
สัดส่วนการส่งออกกุ้งไทยในปี 2565

วิกฤติราคากุ้งไทย ปี 2566 เป็นปีที่ราคาไม่ดีต่อเนื่องนานหลายเดือนในรอบ 20 ปี โดยปกติแล้วราคาจะลงเพียง 2 เดือน หลังจากนั้นราคาจะกลับมาอยู่ในจุดที่ควรจะเป็นอีกครั้ง แต่ไม่ใช่สำหรับปีนี้ เพียงช่วงครื่งปีแรกราคาไซส์ 40 ตัว/กิโลกรัม ลงไปถึง 140 บาท ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 120 บาท/กิโลกรัม เท่ากับว่าในรอบที่เลี้ยงได้นั้น จะได้กำไรเพียง 20 บาท/กิโลกรัม เท่านั้น ยังไม่นับกรณีที่สูญเสียหรือเลี้ยงไม่ได้

ในปี 2565 กุ้งไทยถูกส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา (28.21%), ญี่ปุ่น (27.19%), จีน (17.59%), เกาหลีใต้ (5.55%), ใต้หวัน(5.03%) , ประเทศในกลุ่มอาเซียน ( 3.89%), แคนนาดา (3.33%) และประเทศอื่น ๆ (9.22%)

สัดส่วนการส่งออกกุ้งไทยในปี 2566

ขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2566 กุ้งไทย ถูกส่งออกไปยัง จีน (27.39%), ญี่ปุ่น (24.14%), สหรัฐอเมริกา (22.58%), ไต้หวัน (6.85%), เกาหลีใต้ (5.46%), แคนนาดา(2.51%), มาเลเซีย (2.03%) และประเทศอื่น ๆ (9.04%)

แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของความสามารถในการส่งออกกุ้งไปประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐอเมริกา

ภาพรวมราคาขายปากบ่อของกุ้งไทย ช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2566

ราคากุ้งเกิดการชะลอตัวตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยที่ราคากุ้งลดลงมาต่อเนื่อง และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าอัตราการชะลอตัวของราคากุ้งค่อนข้างน่าเป็นกังวลสำหรับเกษตรกรไทยอย่างมาก เนื่องจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศ และสถานการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลก ล้วนส่งผลกระทบอย่างยิ่งที่ทำให้ราคากุ้งลดลง 

TH Shrimp price week 2023
ราคาขายกุ้งไทยตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. 2566

 เมื่อลองเปรียบเทียบราคาขายเฉลี่ยกุ้ง (50 ตัว/กก.) ในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2566 กับสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน 2566  เห็นได้ว่า จากราคา 210.75 บาท ลดลงเหลือ  141.70 ลดลงถึง 69.05 บาท หรือ   32.76% ในช่วงหกเดือน ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า สถานการณ์ราคากุ้งไทยในปี 2566 อยู่ในขั้นวิกฤติ จำเป็นต้องเตรียมการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ราคากุ้งที่ตกลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว

จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำการเปรียบเทียบสถานการณ์ราคาส่งออกกุ้งครึ่งปีแรกของ 2565 และ 2566  พบว่า มูลค่าการส่งออกรวมของกุ้งไทยใน มีมูลค่าลดลงถึง 9.04%  อีกทั้งปริมาณการส่งออกกุ้งไทยลดลงอย่างมากเช่นกัน โดยเปรียบเทียบในช่วงครึ่งปีแรก 2565  พบว่า มีจำนวนการส่งออกอยู่ที่ 51,736.73 ตัน ในขณะที่จำนวนการส่งออกกุ้งไทยช่วงครึ่งปีแรก 2566 มีจำนวนอยู่ที่ 42,245.07 ตัน ซึ่ง ลดลงจากเดิมประมาณ 10,000 ตัน

 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดลงราคากุ้งต้นปี 2566

ความต้องการของตลาด (Demand – Supply)

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดทิศทางราคา คือ ความต้องการของตลาดคู่ค้าที่ส่งผลต่อราคาส่งออกของกุ้งในไทย ซึ่งอาจจะปรับขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก เมื่อวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกกุ้งในแต่ละตลาด จะพบว่า

           o   ตลาดสหรัฐฯ มีความอิ่มตัวในการนำเข้ากุ้ง และมีทิศทางในการนำเข้าที่ลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งไทยยังได้รับผลกระทบจากการที่ถูกปรับลดสิทธิพิเศษทางภาษี และประกอบกับที่ราคาส่งออกของไทยมีราคาที่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่น ๆ อาทิ เอกวาดอร์ เวียดนาม อินเดีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกวาดอร์ ที่มีข้อตกลงทางการค้า กับสหรัฐที่จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ นั่น ยิ่งส่งผลกระทบให้ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง จากตลาดนี้ ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า จำนวนการกุ้งไทยไปตลาดสหรัฐมีจำนวนมากกว่า 10,500 ตัน แต่กลับกันในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ที่ผ่านมากลับมีจำนวนส่งออกกุ้งไทยไปยังสหรัฐเพียง 6,200 ตันเท่านั้น อีกทั้งมูลค่าส่งออกกุ้งไทยลดลงมากกว่า 0.30 % หรือมากกว่า 1,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกันปี 2565 ทั้ง ๆ ตลาดนี้ถือเป็นตลาดที่เราสามารถส่งออกได้มากที่สุด 

           o   ตลาดญี่ปุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทยในการส่งออกกุ้ง เนื่องจากไทยกับญี่ปุ่นมีข้อตกลงทางการค้าเขตการค้าเสรี (FTA) ร่วมกันกับกลุ่มประเทศในอาเซียนและอินเดีย จึงทำให้แต่ละประเทศสมาชิกในข้อตกลง FTA มีอัตราภาษีนำเข้าญี่ปุ่นในอัตราที่ไม่แตกต่างกัน แต่จะแข่งขันที่ราคาส่งออก ทำให้คู่แข่งที่สามารถทำราคาได้ต่ำกว่า มีความได้เปรียบ และมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากกว่า อาทิ อินเดียและเวียดนาม เป็นต้น และนั่นทำให้ราคาส่งออกกุ้งของไทยมีแนวโน้มที่ลดลงต่อเนื่อง  ในช่วงเวลาที่ผ่านมา 

           o   ตลาดจีน อีกหนึ่งตลาดใหญ่ที่สำคัญในการส่งออกกุ้งของไทย  หลังจากที่จีนเริ่มมีการเปิดประเทศ เมื่อผ่านช่วงโควิด-19  ทำให้ตลาดนี้มีความต้องการในการนำเข้ากุ้งที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการที่ทางภาครัฐของไทยได้มีการเจรจาขอส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนมากขึ้น เนื่องจากการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของการประกอบอาหารไทยในด้านธุรกิจ Food Service ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคจีน ก็ยิ่งส่งผลให้ราคากุ้งไทยมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่า นโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ และแนวโน้มการผลิตกุ้งของจีนมีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการในตลาดจีนที่มีต่อกุ้งไทยลดลงได้ในระยะยาว 

ราคาขายกุ้งไทยตลอดช่วงเดือน มิ.ย. 2566
ราคาขายกุ้งไทยเดือน มิถุนายน 2566

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศผู้นำเข้าจะชะลอคำสั่งซื้อ แต่ทางหน่วยงานภาครัฐของไทยก็ไม่นิ่งนอนใจแต่อย่างใดต่อเกษตรกรไทยกับสถานการณ์ราคากุ้งที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทางหน่วยงานภาครัฐได้มีการจัดทำโครงการเพื่อกระตุ้นการบริโภคกุ้งภายในประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายกุ้งให้แก่เกษตรกรไทยให้มากยิ่งขึ้น โดนการสนับสนุนราคากิโลกรัมละ 20 บาท  ซึ่งส่งผลให้มีแนวโน้มทางด้านราคาที่สูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์หลังจากการประกาศโครงการ

สถานการณ์หลังโควิด-19

หลังจากการผ่อนปรนมาตรการ COVID-19 ของประเทศจีนทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศไทยกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง จากจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เข้ามาในประเทศมากขึ้น จึงทำให้การท่องเที่ยว รวมถึงความต้องการกุ้งในท้องตลาดกลับมามีความคึกคักขึ้นอีกครั้ง 

ดังเห็นได้จาก  ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ราคากุ้ง (50 ตัว/กก.) มีแนวโน้มขยับราคาขึ้นจากสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม  4.27% หลังจากมีการประกาศให้มีการรับนักท่องเที่ยวชาวจีนมากขึ้น และประกอบกับหลายประเทศเริ่มผ่อนปรนในการรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนมากขึ้น ก็ยิ่งส่งผลในวงกว้างในท้องตลาดโดยรวมมากขึ้นเช่นกัน จากการที่มีความต้องการกุ้งในท้องตลาดในปริมาณที่สูงขึ้น จึงส่งผลให้ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 นั้น ราคาขายกุ้งมีอัตราที่เพิ่มขึ้น และมีสัญญาณในแง่บวกอย่างมากตลอดทั้งเดือนมกราคม 2566

โดยเราจะเห็นได้ว่าราคาขายเฉลี่ยกุ้ง (70 ตัว/กก.) ที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ราคาราว 190 บาท/กก. ซึ่งมีการปรับราคาที่สูงขึ้น เป็นผลอันมาจากการที่ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2566 เป็นต้นมา ประเทศไทยอนุญาตให้นำนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้นเพิ่มเติมจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ตลอดช่วงเดือนกุมภาพันธ์

ราคาขายกุ้งจึงยังคงมีราคาที่สูงจากความต้องการบริโภคสินค้ากุ้งภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของธุรกิจด้านโรงแรม และร้านอาหารที่มีอัตราที่สูงมากขึ้น หลังจากการท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอีกครั้งหลังจากผ่านช่วงโควิด-19

แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลาดังกล่าว ทางประเทศจีน และกลุ่มประเทศในยุโรปซึ่งเป็นผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่เพิ่มการนำเข้ากุ้งจากอินเดียทดแทนการนำเข้ากุ้งจากไทย จึงส่งผลให้สถานการณ์ราคากุ้งไทยมีแนวโน้มที่ลดลง ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ และลดลงต่อเนื่องมากขึ้นในเดือนมีนาคม  

สภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)

อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลทำให้สถานการณ์ราคากุ้งในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มที่ลดลง  เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อที่มีอัตราชะลอตัว และลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วจากข้อมูลของ Forbes ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเริ่มพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 และยังคงต่อเนื่องในปี 2565 ที่อัตราเงินเฟ้อสูงแตะถึง 9.1% ในเดือนมิถุนายน ถึงแม้ว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 อัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อโดยรวมในปี 2565 และต่อมาในปี 2566 ยังคงมีอัตราที่สูงมากอยู่ดี ซึ่งปัจจัยนี้จึงทำให้ให้ราคาขายกุ้งมีการชะลอตัวลงมาต่อเนื่อง เช่นกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ราคาขายกุ้งไทยตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. 2566 กับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ราคาขายกุ้งไทยต้นปี 2566 และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ถึงแม้ว่าช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ตามรายงานสำนักข่าว CNN ระบุว่า ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ แต่ในช่วงสัปดาห์หลังจากมีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ยังไม่สามารถส่งผลมากนักที่ทำให้ราคาขายกุ้งไทยสูงขึ้นภายในท้องตลาด และในนับตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นไป   ราคาขายกุ้งก็มีราคาที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามสภาวะเงินเฟ้อที่มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง และประกอบกันกับแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ก็ส่งผลให้ราคาขายกุ้งในช่วงไตรมาสสแรกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเช่นกัน และในลักษณะเช่นเดียวกันจากรายงานของ ธปท. ที่ระบุว่า กนง. ได้มีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถส่งผลมากนักในการปรับราคาขายกุ้งให้สูงขึ้น

สงครามรัสเซีย-ยูเครน (Ukraine – Russia War)

ช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อราคาขายกุ้งไทยภายในท้องตลาดในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ในความเป็นจริงของเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบทางอ้อมต่อตลาดราคาขายกุ้งไทยอยู่ไม่น้อย เนื่องจากรายงานของสำนักข่าว Reuter และข้อมูลจากคณะทำงานศึกษาสถานการณ์กุ้งทะเลต่างประเทศ  ระบุว่า จาก 2 ใน 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นประเทศนำเข้ากุ้งอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีปริมาณการนำเข้าที่ลดน้อยลงจากผลของสงครามที่เยื้อยืด และยังไม่มีวี่แววลดระดับลง นอกจากนี้สถานการณ์ของสงครามที่เยื้อเยือยังส่งผลต่อการขนส่งของอมริกา ที่ทางอเมริกามองว่ายูเครนมีโอกาสสูงที่ไม่สามารถชนะรัสเซียได้ จึงทำให้ให้ทางสหรัฐมองหาพันธมิตรใหม่ทางทะเลจีนใต้อย่าง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย แทนที่การขนส่งเดิมไปที่ทะเลดำ ทำให้เส้นทางใหม่มีความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ค่าประกันภัยการขนส่งสูงขึ้น และยังส่งผลต่อต้นทุนการซื้อกุ้งของไทยเพิ่มขึ้นตามมาอีกด้วย ซึ่งทำให้ราคากุ้งจึงจำเป็นต้องลดลง

สถานการณ์ราคากุ้งไทยในช่วงครึ่งปีแรก พ.ศ. 2566 ยังคงได้รับผลกะทบอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากความต้องการที่ลดลงในท้องตลาดที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างตลาดสหรัฐและตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะ Over supply หรือ การมีผลผลิตกุ้งในตลาดโลกมากเกินความต้องการ ทำให้ราคาตลาดมีการชะลอตัวในการนำเข้ากุ้งตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือภาวะเงินเฟ้อของประเทศผู้นำเข้า ล้วนประกอบกันส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคตามมาด้วย  ผู้บริโภคจึงมีความต้องการในการเลือกซื้อสินค้าในราคาที่ถูกมากกว่าเดิม ดังนั้น หลากหลายปัจจัยข้างต้นนี้ส่งผลต่อการส่งออกกุ้งของไทย จึงส่งผลกดดันให้ราคากุ้งในประเทศลดลง และกระทบรายได้สุทธิของผู้เพาะเลี้ยงกุ้งโดยตรง ทั้งนี้มีความเป็นได้สูงที่แนวโน้มราคากุ้งในช่วงครึ่งปีหลัง จะมีแนวโน้มราคาที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องไปถึงช่วงปลายปี 2566  จากปัจจัยตามสถานการณ์ในท้องตลาด และความต้องการบริโภคที่ลดต่ำลง ซึ่งก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่ราคาขายกุ้งจะมีการปรับตัวให้สูงขึ้นในช่วงที่ครึ่งปีหลัง แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากความต้องการกุ้งในตลาดสหรัฐ และตลาดญี่ปุ่นกลับมามีแนวโน้มที่สูงขึ้น ก็มีโอกาสเช่นกันที่จะส่งผลดีต่อราคาส่งออกกุ้งในไทยที่จะปรับตัวให้สูงขึ้นในช่วงปลายปี 2566

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ข้อมูลเศรษฐกิจ,กระทรวงพาณิชย์  / สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) / INFOFISH Trade News 2022 / กรมประมง / สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย / เดลินิวส์ / คณะทำงานศึกษาสถานการณ์กุ้งทะเลต่างประเทศ

แบ่งปันเนื้อหา

ใส่ความเห็น

Close Menu