คุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงกุ้ง

Water Monitoring

Water Monitoring is a big task in shrimp farming. If the water isn’t just right, it can stress out the shrimp and mess up their growth and survival.

 

ดังนั้น การที่เรามั่นใจได้ว่าคุณภาพของน้ำมีค่าที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของกุ้ง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการตรวจวัดค่าต่าง ๆ อาทิ พีเอช ค่าออกซิเจนละลายน้ำ และแร่ธาตุ หากเราสามารถวัดคุณภาพได้บ่อยครั้ง จะทำให้เราสามารถรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

ค่าออกซิเจนละลายน้ำที่เหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้ง

ค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำทั้งหมด โดยค่าออกซิเจนละลายน้ำสามารถบอกได้ถึงความเหมาะในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในน้ำ ปริมาณการละลายของออกซิเจนจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิน้ำ ความเค็ม กระบวนการย่อยสลายต่าง ๆ ภายในน้ำ และการสังเคราะห์แสงของพืช

 

กระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชจะเกิดขึ้นในตอนกลางวัน ออกซิเจนที่ได้จากการสังเคราะห์แสง จะทำให้ค่าออกซิเจนละลายน้ำ สูงในช่วงกลางวัน ในขณะที่เวลากลางคืน สัตว์น้ำและพืชน้ำก็ยังคงใช้ออกซิเจนในการหายใจ และสังเคราะห์คาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ค่าดีโอในช่วงค่ำจึงลดลง เนื่องจากออกซิเจนมีความสำคัญต่อการหายใจของสิ่งมีชีวิตในน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

 

ดังนั้น ค่า DO จึงมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง บ่อเลี้ยงกุ้งควรควบคุมค่า DO ให้อยู่ในช่วงสูงกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm) ซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะสม เนื่องจากหากมีค่า DO ต่ำกว่าค่ามาตรฐานจะมีผลต่อการกินอาหารของกุ้ง การย่อยสลายของจุลินทรีย์ภายในบ่อกุ้ง การลอกคราบ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้กุ้งเจริญเติบโตช้าและทำให้มีปัญหาในการเลี้ยงกุ้งอยู่บ่อยๆ เมื่อค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) อยู่ในช่วงสูงกว่า 5 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm) จะช่วยลดความเครียดของกุ้ง และส่งผลที่ดีต่อแนวโน้มในการเจริญเติบโตทั้งในด้านผลผลิตที่สูง และมีค่าอัตราการแลกเนื้อที่ต่ำ

ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ที่เหมาะสมในการเลี้ยงกุ้ง

ค่า pH คือ ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ เป็นการวัดปริมาณความเข้มข้นของไฮโดรเจนอิออนที่มีอยู่ในน้ำ ค่าในการวัดของ pH จะอยู่ในช่วง 1-14 ดังนั้น หากค่า pH มีค่าเท่ากับ 7 จะมีคุณสมบัติเป็นกลาง ถ้ามีค่าต่ำกว่า 7 แสดงว่าน้ำมีสภาวะเป็นกรด และถ้าสูงกว่า 7 ก็จะมีสภาวะเป็นด่าง

 

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของ ค่า pH ในรอบวัน เกิดขึ้นเนื่องจากการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืชในเวลากลางวัน จะทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในน้ำลดลง เนื่องการลดลงของกรดคาร์บอกนิก (ส่งผลความเป็นด่างสูงขึ้น และในเวลากลางคืนค่า pH ของน้ำลดลง เนื่องจากกระบวนการหายใจของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำ จะคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ทำให้น้ำมีความเป็นกรดมากขึ้น ซึ่งในการเลี้ยงกุ้งต้องรักษาระดับค่า pH ของน้ำให้มีความเหมาะสมอยู่ในช่วง 7.0-8.5 ซึ่งในรอบวันไม่ควรเกิน หรือเปลี่ยนแปลงมากจนเกินไป เพราะการเปลี่ยนแปลงของ pH ในรอบวันจะทำให้กุ้งเกิดความเครียด ไม่เจริญเติบโต และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง ทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย 

 

นอกจากค่า pH จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกุ้งแล้ว ยังส่งผลต่อความเป็นพิษของแอมโมเนีย และไฮโดรเจนซัลไฟด์ เมื่อค่า pH ลดต่ำลงจะท้าให้ความเป็นพิษของไฮโดรเจนซัลไฟด์มีต่อกุ้งเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้า pH ที่สูงขึ้นจะทำให้ความเป็นพิษของแอมโมเนียต่อกุ้งเพิ่มสูงขึ้นตามด้วย

ค่าอัลคาไลน์ที่เหมาะสมในการเลี้ยงกุ้ง

ความเป็นด่างของน้ำ มีคุณสมบัติในการควบคุมการเปลี่ยนแปลง ค่า pH ของน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไป (Buffering capacity) ค่าความเป็นด่างมีความสัมพันธ์กับธาตุแมกนีเซียมในน้ำ ทำหน้าที่รักษาระดับความเป็นด่างให้คงที่ เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ส่งผลให้ร่างกายของกุ้งอยู่ในภาวะสมดุล สามารถดึงแร่ธาตุไปใช้ในการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโต

 

ค่าความเป็นด่างที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงกุ้ง ควรอยู่ที่ระดับ 80-170 มก./ลิตร เป็นช่วงที่เหมาะสมซึ่งช่วยให้ร่างกายกุ้งเกิดการสมดุล ช่วยให้เกิดการลอกคราบได้อย่างสมบูรณ์ หากค่าความเป็นด่างมีค่าต่ำกว่า 80 มก./ลิตร ส่งผลให้กุ้งลอกคราบไม่สมบูรณ์ เปลือกนิ่ม สามารถแก้ไขโดยการเติมปูนโดโลไมท์ 1 ลูก/ ไร่ หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต 25 กก./ไร่ และควรใส่ในช่วงที่ไม่มีแสงแดด หรือช่วงหัวค่ำ

 

หากสภาพความเป็นด่างมีค่าสูงกว่า 170 มก./ลิตร ก็จะส่งผลให้กุ้งลอกคราบไม่ออก ลำตัวสากแข็ง ดังนั้นจึงควรลดค่าความเป็นด่างโดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือใส่กากน้ำตาล 15 ลิตร/ไร่ ทุกๆ 5-7 วัน โดยค่อยๆ ปรับลดสภาพความเป็นด่างลง ซึ่งในช่วงนี้ไม่ควรเติมปูน

หากอุณหภูมิน้ำเปลี่ยนไปส่งผลต่อการเลี้ยงกุ้งอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำ มีผลต่อกุ้ง เนื่องจากกุ้งเป็นสัตว์เลือดเย็น โดยส่งผลในทางตรงต่อสัตว์น้ำ คือ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส ทำให้กระบวนการเมตาบอลิซึมของสัตว์เพิ่มขึ้น 10 เท่า จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สัตว์ต้องการอาหารและออกซิเจนเพิ่มขึ้น

ส่วนทางอ้อม มีผลต่อการย่อยสลายอินทรีย์สารของจุลินทรีย์ จะส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำลดลง ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกุ้งอยู่ที่ 28-30 องศาเซลเซียส

ของฝนตกต่อคุณภาพน้ำใน การเลี้ยงกุ้ง

ฤดูฝนมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงสู่บ่อ จะทำให้อุณหภูมิในบ่อเลี้ยงมีค่าลดลง 3-5 ◦C ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำอย่างรวดเร็ว กุ้งจะเกิดอาการช็อกเกร็งได้ ทำให้กุ้งมีลักษณะคล้ายเป็นตะคริวได้เช่นกัน และเมื่อฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ปริมาณน้ำฝนซึ่งมีความเป็นกรดหรือค่าความเป็นด่าง (alkalinity) ต่ำมาก จะมีผลทำให้ค่า pHของน้ำต่ำลงเรื่อยๆ หรือจนถึง pH 6.7 ซึ่งเป็นผลทำให้กุ้งไม่สามารถลอกคราบได้อย่างปกติ ค่าความเป็นด่างลดต่ำลงไปด้วยเป็นการกระตุ้นทำให้กุ้งขาวแวนนาไมมีการลอกคราบมากกว่าปกติ และยังส่งผลต่อความเค็มของน้ำในบ่อเลี้ยงมีค่าลดลงกว่าปกติ เนื่องจากถูกเจือจางด้วยน้ำฝนที่ตกลงมาในบ่อ

 

ในขณะที่ปริมาณแร่ธาตุต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม คลอไรด์ โซเดียม และซัลเฟต จะลดต่ำลงกว่าปกติอีกด้วย โดยเฉพาะแคลเซียมและแมกนีเซียมจะมีความสำคัญต่อการสร้างเปลือกกุ้ง ตามปกติ กุ้งจะพยายามรักษาความสมดุลของปริมาณแร่ธาตุในเลือดให้คงที่ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อปริมาณแร่ธาตุที่สำคัญในน้ำลดต่ำลง กุ้งต้องใช้พลังงานมากขึ้นในการดึงแร่ธาตุต่างๆ ในน้ำเข้าสู่ร่างกาย ทำให้กุ้งอ่อนเพลียและมีโอกาสที่ป่วยหรือตายหลังจากการลอกคราบได้อีกด้วย

 

ส่วนค่าความกระด้างของน้ำ (Hardness) ก็ลดลงแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของฝนที่ตกลงมาอีกด้วย เมื่อเกิดฝนตกทำให้มีแสงที่ส่งกระทบลงสู่บ่อเลี้ยงน้อยลง จึงทำให้แพลงก์ตอนในบ่อเลี้ยงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ก็จะทำให้เกิดความขุ่น (Turbidity) ของน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากแพลงก์ตอนส่วนใหญ่จะตาย น้ำจะขุ่น และบ่อยครั้งจะพบว่ากุ้งมีเหงือกสีเข้มขึ้นจากตะกอนหรือซากแพลงก์ตอนเข้าไปอุดตันในเหงือก กุ้งที่อ่อนแอบางส่วนจะเริ่มเกาะตามขอบบ่อ การตายของแพลงก์ตอนก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ค่า DO ในบ่อเลี้ยงมีค่าต่ำลง ถ้าค่า DO ต่ำกว่า 3.0 ppm กุ้งจะไม่แข็งแรง การกินอาหารจะลดน้อยลง และในช่วงที่กุ้งกำลังลอกคราบ ถ้าระดับออกซิเจนต่ำกุ้งอาจจะลอกคราบแล้วตายได้

Water Monitoring during rainfalls

ก่อนจะถึงช่วงฤดูฝน ก่อนปล่อยกุ้งอาจจะต้องประเมินปริมาณการเกิดฝนในรอบปีนั้นว่าจะมีการเกิดฝนมากหรือน้อย หากมีฝนมากและเป็นช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ควรลดความหนาแน่นในการปล่อยกุ้งให้ลดน้อยลง ทำการเพิ่มเครื่องตีน้ำหรือเปิดเครื่องตีน้ำ เพราะในช่วงระยะเวลาที่ฝนตกให้มากขึ้นแพลงก์ตอนพืชในบ่อไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ค่าออกซิเจนก็จะน้อยลง อีกทั้งยังต้องมีการเติมวัสดุปูนเพื่อทำการปรับ pH ให้คงที่ เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกจะทำให้ pH ลดลงกว่าเดิม

 

อีกทั้ง เราจำเป็นที่จะต้องทำการเติมเสริมแร่ธาตุอย่างสม่ำเสมอ หรือเติมในช่วงการลอกคราบของกุ้ง เพื่อให้กุ้งได้สร้างคราบใหม่ได้เร็วมีสุขภาพที่แข็งแรง

Water Monitoring during rainfall is essential to ensure shrimp health and successful shrimp farming

ใส่ความเห็น

Close Menu