
สารอาหาร และ แร่ธาตุเลี้ยงกุ้ง ที่สำคัญมีอะไรบ้าง
ความต้องการโปรตีน (Protein)
กุ้งมีความต้องการโปรตีน โปรตีนเป็นหนึ่งใน สารอาหารสำหรับกุ้ง ที่สำคัญเพื่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตของกุ้ง โปรตีนยังเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารกุ้งและเป็นต้นทุนหลักที่สำคัญของอาหารของกุ้ง โดยกุ้งแต่ละขนาดก็มีความต้องการโปรตีนที่แตกต่างกันออกไป เช่น กุ้งขาว ระยะ Post larvae ขนาด 0.5 กรัม มีความต้องการโปรตีน 30-35 % และ กุ้งขาว ระยะ Post larvae ขนาด 1.4-8.5 กรัม มีความต้องการโปรตีน 32 %
ความต้องการไขมัน (Fat)
กุ้งมีความต้องการไขมันเพื่อการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของกุ้ง ซึ่งกุ้งที่อาศัยอยู่ในน้ำเค็มจะมีความสามารถในการย่อยและนำกรดไขมันที่อิ่มตัวไปใช้ได้ต่ำ เนื่องจากกุ้งเป็นสัตว์เลือดเย็นอุณหภูมิของร่างกายขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำซึ่งค่อนข้างต่ำ ดังนั้นจึงต้องใช้ไขมันที่ไม่อิ่มตัวมาเป็นองค์ประกอบในอาหารกุ้ง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปลาน้ำจืด และน้ำมันปลาทะเล เป็นต้น เพื่อเลียนแบบอาหารธรรมชาติของกุ้งที่มักมีไขมันที่ไม่อิ่มตัวเป็นองค์ประกอบ
ความต้องการคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)
กุ้งใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงาน ความต้องการคาร์โบไฮเดรตของกุ้งจะไม่คงที่ เนื่องจากการนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้ของกุ้งขึ้นอยู่กับความสามารถในการย่อยของกุ้ง ซึ่งกุ้งมีน้ำย่อยคาร์โบไฮเดรตอยู่หลายชนิด เช่น แอลฟาและเบต้าอะไมเลส มอลเทส เซกคาเรส ไคตีเนส และเซลลูเลส ซึ่งเซลลูโลสจะทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานสำรองมากกว่าใช้เป็นสารอาหารสำหรับให้กุ้งกิน
ความต้องการวิตามิน (Vitamin)
วิตามินเป็นอินทรีย์สารที่กุ้งต้องการในปริมาณที่น้อยมาก แต่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของกุ้ง โดยเฉพาะในระบบการเลี้ยงที่พัฒนา ปล่อยหนาแน่นมาก อาหารธรรมชาติมีน้อย กุ้งส่วนใหญ่จะสังเคราะห์วิตามินเองไม่ได้หรือไม่เพียงพอ ดังนั้น การเสริมวิตามินในอาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต อัตราการรอด และผลผลิต
แร่ธาตุเลี้ยงกุ้ง ที่สำคัญ มีอะไรบ้าง
นอกจาก สารอาหารสำหรับกุ้ง การเพิ่มแร่ธาตุในอาหารกุ้ง จะช่วยให้เกิดการสร้างเปลือกที่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการลอกคราบเร็วขึ้น และเป็นการลดอัตราการตายขณะลอกคราบ
แร่ธาตุเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในโครงสร้างเปลือก และเนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่ม (soft tissues) รวมทั้ง เป็นองค์ประกอบปัจจัยร่วม (cofactor) และเป็นตัวกระตุ้น (activators) ในเอนไซม์น้ำย่อยหลายชนิดของกุ้ง
แร่ธาตุที่ละลายได้ดี เช่น แคลเซียม(Ca), ฟอสฟอรัส(P), โซเดียม(Na), โปตัสเซียม (K), และ
คลอไรด์ (Cl) แร่ธาตุเหล่านี้จะทำหน้าที่ในระบบสมดุลเกลือแร่ระหว่างร่างกายกุ้งกับสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ในสภาวะสมดุล เพื่อทำให้สามารถอยู่ได้อย่างปกติ โดยแร่ธาตุที่สำคัญหลายตัว เกษตรกรสามารถเพิ่มลงไปในน้ำที่เลี้ยงกุ้งได้โดยตรง แต่แร่ธาตุอีกหลายตัวก็ควรใส่เพิ่มในอาหารกุ้ง
แมกนีเซียม (Magnesium)
แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุสำคัญอันดับ 1 แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่อยู่ในโครงสร้างร่างกายของกุ้ง 70 % ส่วนอีก 30 % พบในเนื้อเยื่อและเลือด แมกนีเซียมช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ย่อยอาหารของกุ้ง ช่วยให้อาหารเปลี่ยนไปเป็นพลังงานเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ และแมกนีเซียมยังช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ การยืดหดกล้ามเนื้อ แมกนีเซียมส่วนเกินจะถูกขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ
กุ้งจะสามารถใช้แมกนีเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีสัดส่วนที่สมดุลกับแคลเซียม คือ อัตราส่วน แมกนีเซียม 3 ส่วนต่อแคลเซียม 1 ส่วน
ผลของการขาดแมกนีเซียม
– จะทำให้ค่าอัลคาไลน์ของน้ำไม่คงที่และลดต่ำลง
– เมื่อกุ้งลอกคราบแล้วจะทำให้กุ้งสร้างเปลือกแข็งได้ช้าลง กล้ามเนื้อเกร็ง และเกิดสภาวะหัวใจล้มเหลว
แคลเซียม (Calcium)
แคลเซียมมีความสำคัญต่อการสร้างเปลือก ความสมดุลกรดด่างภายในร่างกาย การแข็งตัวของเลือด การหดตัวของกล้ามเนื้อ และการดูดซับวิตามิน บี12 ตามปกติแคลเซียมจะสะสมที่ตับและตับอ่อนในรูปของเกลือแคลเซียมฟอสเฟตและเป็นองค์ประกอบของโครงสร้างภายนอกของกุ้ง
กุ้งจะใช้แคลเซียมควบคู่กับฟอสฟอรัสในอัตราส่วน 1:1 จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด แคลเซียมจะถูกดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อได้ดีกว่าฟอสฟอรัส การดูดซึมของแคลเซียมจะเกิดได้ดีและมากขึ้น เมื่อมีวิตามินดีอยู่ด้วย
ผลของการขาดแคลเซียม
-ส่งผลทำให้กุ้งเปลือกบาง นิ่ม เปลือกแข็งช้าหลังจากลอกคราบ
โซเดียม และ โปแตสเซียม (Sodium and Potassium)
โซเดียมเป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบในร่างกายของกุ้ง โดยจะเป็นองค์ประกอบของกล้ามเนื้อ 90 % โซเดียมและโปตัสเซียม เป็นแร่ธาตุกลุ่มที่มีความเข้มข้นสูงมากชนิดหนึ่งในระบบเลือดกุ้ง ซึ่งในเลือดจะมีค่าต่ำกว่าน้ำภายนอกเล็กน้อย ทำหน้าที่ควบคุมและรักษาสมดุลแร่ธาตุภายในร่างกายกับสิ่งแวดล้อมภายนอกให้สมดุลอยู่ตลอดเวลา ควบคู่ไปกับคลอไรด์ โดยมี โปแตสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียมเป็นตัวช่วยปรับอีกทีหนึ่ง โซเดียมและโปตัสเซียมช่วยรักษาสภาพความเป็นกรด-ด่างในร่างกายให้สมดุล และทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท
ผลของการขาดโซเดียมและโปแตสเซียม
– ทำให้กุ้งเบื่ออาหาร โตช้า สูญเสียน้ำหนักตัว เลือดเป็นกรด
– สามารถใช้ประโยชน์จากโปรตีนได้น้อยลง เนื่องจากโซเดียมเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์โปรติเอสซึ่งเป็นน้ำย่อยที่ใช้ย่อยโปรตีนหากขาดโซเดียมจะทำให้การย่อยโปรตีนต่ำลง
คลอไรด์ (Chloride)
คลอไรด์ภายในตัวกุ้งกับน้ำทะเลจะมีปริมาณใกล้เคียงกันจึงไม่ส่งผลต่อการปรับสมดุลของแร่ธาตุตัวอื่น
เมื่อคลอไรด์อยู่ในเลือดจะช่วยรักษาระดับความเป็น กรด-ด่าง ของเอนไซม์ โดยจะช่วยควบคุมการเข้าออกของสารละลายระหว่างร่างกายกับสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสให้สามารถย่อยคาร์โบไฮเดรตได้อย่างสมบูรณ์
การเลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่นในพื้นที่ความเค็มต่ำ จะส่งผลให้กุ้งขาดแร่ธาตุ และส่งผลให้กุ้งใช้สารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตได้ไม่เต็มที่ และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ส่งผลให้กุ้งสูญเสียน้ำหนัก เปลือกนิ่มและตัวหลวม
เพิ่มความแม่นยำและความสะดวกในการวัดค่าคุณภาพของน้ำได้ตลอด 24 ช.ม.
เครื่องควบคุมจัดการฟาร์มกุ้งระบบสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) ของไฮโดรนีโอ มากับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่ต่อผ่านเครื่องควบคุม เพื่อให้ผู้ใช้งานเห็นค่าเรียลไทม์และสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำได้จากทุกที่ตลอด 24 ชม ผ่านแอปพลิเคชั่น